รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ (เกิด 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2482) สถาปนิกชาวไทย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย
รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มีพรสวรรค์ในด้านการวาดภาพมาตั้งแต่ครั้นยังเด็กๆ โดยเฉพาะด้านการวาด Perspective โดยตั้งแต่สมัยรังสรรค์เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ส่งผลงานวาดภาพประกวดได้รางวัลหลายครั้ง จนเมื่อมาเป็นนิสิตที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ก็มีชื่อเสียงในด้านการวาด Perspective โดยรังสรรค์จบปริญญาตรีจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2505 รุ่นเดียวกับ ผศ.ปราโมทย์ แตงเที่ยง, รศ.ดร.เกียรติ จิวะกุล, ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน และศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อยังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2507
ได้รับราชการสังกัดกรมโยธาธิการ สังกัดกระทรวงมหาดไท หลังจากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2510 รังสรรค์เคยได้ทำงานในสำนักงานออกแบบของ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ก่อนที่จะออกมาตั้งบริษัทของตัวเองในนาม บริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท หรือ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ จำกัด ในปัจจุบัน
ลักษณะผลงานการออกแบบอันโดดเด่นของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ คือ การออกแบบโครงการขนาดใหญ๋ โดยเฉพาะอาคาร โดยนำสถาปัตยกรรมกรีก โรมัน เข้ามาใช้ในงานออกแบบอาคาร
สมรสกับยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และเป็นอธิบดีผู้พิพากษาหญิงคนแรก มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน และ หญิง 1 คน ชื่อ จันทร์กระพ้อ พรรษิษฐ์ และตามโพธ ต่อสุวรรณ รังสรรค์ยังมีความชื่นชอบในเรื่องพระเครื่องเป็นอย่างมาก
เป็นกรณีที่ตำรวจกองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. (ยศในขณะนั้น) ได้ทำการจับกุมมือปืนที่วางแผนลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น จนมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอีกหลายคน กระทั่งไปสู่จับกุมผู้จ้างวานได้ในที่สุด ซึ่งต่อมาวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุก 25 ปี จำเลยอันประกอบด้วยนายสมพร เดชานุภาพ, นายเณร มหาวิไล, นายอภิชิต อังศุธรางกูล และ รศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ซึ่งรังสรรค์ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่าถูกใส่ร้าย จนในที่สุดศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ยกฟ้อง นับเป็นการต่อสู้ทางคดียาวนานถึง 15 ปี